ต้นทุนที่อิงกับกิจกรรม (Activity based cost: ABC)
เทคนิคสำหรับการพิจารณาต้นทุนผลิตภัณฑ์
โดยมุ่งเน้นต้นทุนของทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า ซึ่งเรียกว่า ต้นทุนที่อิงกับกิจกรรม
จะเห็นว่ากิจกรรมที่ดำเนินการทั้งด้านกลยุทธ์การตลาดหรือการบริหารบางครั้งไม่ได้แสดงเป็นต้นทุนของผลิตภัณฑ์
ทำให้ต้นทุนที่ได้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงและผลกำไรไม่ได้สะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง
ดังนั้นต้นทุนที่อิงกับกิจกรรมจะจัดสรรการใช้ทรัพยากรทั้งหมดเข้าไปในต้นทุน
และทำให้สามารถคำนวณต้นทุนได้ใกล้เคียงค่าแท้จริง
หลักการเบื้องต้นของการคำนวณต้นทุนที่อิงกับกิจกรรม
คือ ระบบบัญชีต้องระบุและบันทึกค่าใช้จ่ายของทุกกิจกรรม
และรวมเป็นต้นทุนกิจกรรมรวม แล้วนำไปคำนวณหาต้นทุนผลิตภัณฑ์ ต้นทุนที่อิงกับกิจกรรมนี้จะแสดงค่าต้นทุนที่แตกต่างหรือตรงกับการใช้ทรัพยากรอย่างแท้จริง
จึงช่วยให้การบริหารและการตัดสินใจของผู้บริหารด้านต้นทุนมีความแม่นยำมากขึ้น
กิจกรรม (Activity) คือ การดำเนินการใดที่เปลี่ยนแปลงทรัพยากร (พนักงาน, วัสดุ, เครื่องจักร, งบประมาณ) ขององค์กรเป็นผลิตภัณฑ์, บริการ, โครงการ (การโฆษณา, การปรับปรุง, การลงทุนเพิ่ม), หรือความพึงพอใจของลูกค้า โดยที่ทุกกิจกรรมนั้นต้องจัดสรรเข้าไปยังต้นทุนของแต่ละผลิตภัณฑ์ ดังรูปที่ 37
ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของแต่ละหน่วยงานต้องแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน
และต้องเปรียบเทียบความแปรปรวน (Variances) ของแต่ละหมวดหมู่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
และควรแยกแยะว่ากิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มหรือกิจกรรมใดควรยกเลิก
รวมทั้งกำหนดตัวขับต้นทุน (Cost driver) ที่บ่งบอกว่าต้นทุนเกิดจากปัจจัยหลักใด เช่น ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรมีจำนวนครั้งการเสียของเครื่องจักรเป็นตัวขับต้นทุน,
ต้นทุนการตรวจสอบมีจำนวนครั้งของการตรวจสอบเป็นตัวขับต้นทุน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อพัฒนากิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร
วิธีการนี้จึงเหมาะสำหรับองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย,
ค่าโสหุ้ยสูงและยากต่อการจัดสรรแต่ละหน่วยการผลิต และการผลิตที่เป็นระบบอัตโนมัติ
บางครั้งที่ผู้ผลิตประสบปัญหาไม่สามารถจัดส่งชิ้นงานหรือสินค้าได้ทันต่อความต้องการ
จึงต้องสั่งซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นเป็นการชั่วคราว
ซึ่งเป็นระบบการสั่งซื้อเพียงครั้งเดียว (One decision system) วิธีการนี้อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากเป็นสินค้าตามสมัยหรือสินค้าตามฤดูกาล
ทำให้สินค้านั้นมีโอกาสล่าหลังหรือตกรุ่นและขายไม่ได้
บางครั้งต้นทุนการเปลี่ยนรุ่นหรือปรับแต่งเครื่องมีมูลค่าสูง
ทำให้จำเป็นต้องผลิตต่อเนื่องไม่สามารถแทรกรุ่นการผลิตได้
บางครั้งหากไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ
ก็จะทำให้เสียโอกาสทางการตลาดได้ หรือบางครั้งการจัดส่งล่าช้า
ก็จะมีผลให้มูลค่าสินค้านั้นลดลงไปด้วย ดังนั้นวิธีการนี้ต้องพิจารณาแต่ละกิจกรรมและผลกำไรก่อนการตัดสินใจ
เพื่อสร้างผลกำไรที่ดีที่สุด
หากความต้องการซื้อของลูกค้ามากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ (D ≥ Q) จะทำให้ขายสินค้าได้ทั้งหมด
ซึ่งจะพบว่า
กำไร = (กำไรต่อหน่วย) (ปริมาณที่ผลิตได้)
หากความต้องการซื้อของลูกค้าน้อยกว่าปริมาณที่ผลิตได้ (D < Q) จะทำให้ขายสินค้าได้เท่ากับความต้องการของลูกค้า
ที่ทำให้เกิดผลกำไร และส่วนที่เหลือ (Q – D) จะทำให้ขาดทุน
ซึ่งจะพบว่า
กำไร = (กำไรต่อหน่วย) (ปริมาณความต้องการของลูกค้า) – (ขาดทุนต่อหน่วย)
(ปริมาณที่เหลือ)
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน(Break
even point: BEP analysis)
จุดคุ้มทุน คือ ปริมาณการผลิตที่รายได้รวม
(Total revenue) ตัดกับต้นทุนรวม (Total cost)
สมมติฐานของการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
คือ
1.
รายได้จากการขายเป็นเส้นตรง
เพราะราคาขายคงที่ไม่ว่าจะมีขายได้มากหรือน้อย
2.
ต้นทุนผันแปรเป็นเส้นตรง
เพราะต้นทุนผันแปรคงที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อย
3.
ต้นทุนคงที่ทุกระดับของกิจกรรม
(Level of activity) ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อย
4.
ปริมาณการผลิตสามารถรองรับปริมาณการขายได้ทุกระดับกิจกรรม
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการลงทุนสามารถก่อให้เกิดผลกำไร
ณ ปริมาณผลิตหรือปริมาณการขายที่ยอมรับ
และมีศักยภาพในการสร้างผลกำไรระยะยาวภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจเรียกว่า
การวิเคราะห์ต้นทุน-ปริมาณ-ผลกำไร (Cost-volume-profit: CVP analysis)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้จำเป็นต้องวิเคราะห์จุดคุ้มทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสม่ำเสมอ
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนสามารถอธิบายได้ด้วยกราฟ ดังรูปที่ 33
จากรูปที่ 38 จะพบว่า เส้นต้นทุนคงที่จะขนานกับเส้นระดับของกิจกรรม
ณ ต้นทุนคงที่ระดับหนึ่ง และจุดตัดของรายได้รวมกับต้นทุนรวม คือ จุดคุ้มทุน
เมื่อลากเส้นตรงลงมาจากจุดตัดนั้นผ่านเส้นระดับของกิจกรรม จะได้ปริมาณการขาย ณ
จุดคุ้มทุน
สำหรับปริมาณการขายจริงหรือตามงบประมาณจะแสดงให้เห็นถึงปริมาณสูงสุดของผลิตภัณฑ์นั้น
โดยที่ระยะห่างระหว่างปริมาณการขาย ณ
จุดคุ้มทุนกับปริมาณการขายจริงหรือตามงบประมาณจะเรียกว่า ส่วนเกินที่ปลอดภัย (Margin
of safety)
ส่วนเกินที่ปลอดภัย = ปริมาณการขายจริง (ตามงบประมาณ) – ปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน
อัตราส่วนเกินที่ปลอดภัย = ส่วนเกินที่ปลอดภัย / ปริมาณการขายจริง (ตามงบประมาณ) x
100
ค่าผลต่างระหว่างของเส้นรายได้รวมกับต้นทุนรวม
คือ ขาดทุนหรือกำไร
พื้นที่ระหว่างสองเส้นก่อนจุดคุ้มทุนจะเห็นว่ารายได้รวมต่ำกว่าต้นทุนรวม ซึ่งก็คือ
ขาดทุน แต่พื้นที่ระหว่างสองเส้นหลังจุดคุ้มทุนจะเห็นว่ารายได้รวมสูงกว่าต้นทุนรวม
ซึ่งก็คือ กำไร และผลกำไรจะมากขึ้นเมื่อระดับของกิจกรรมสูงขึ้น
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนสามารถหาได้ด้วยการคำนวณ
ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
1. การหายอดขาย ณ จุดคุ้มทุน
BEPS = F / [ 1 – ( v / s ) ]
2. การหาปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุน
BEPQ = . F / [ s – v ].
BEPS : ยอดขาย ณ จุดคุ้มทุน
BEPQ : ปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุน
F (Fixed cost) : ต้นทุนคงที่
s (sale price) : ราคาขายต่อหน่วย
v (variable cost) : ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
1. การหายอดขาย ณ จุดคุ้มทุน
BEPS = F / [ 1 – ( v / s ) ]
2. การหาปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุน
BEPQ = . F / [ s – v ].
BEPS : ยอดขาย ณ จุดคุ้มทุน
BEPQ : ปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุน
F (Fixed cost) : ต้นทุนคงที่
s (sale price) : ราคาขายต่อหน่วย
v (variable cost) : ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
1. การหายอดขายเพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมาย
SP = .( F + P ) /
[ 1 – ( v – s ) ] .
2. การหาปริมาณขายเพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมาย
QP = ( F + P ) / ( s – v )
SP (Sale of expected profit) :
ยอดขายเพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมาย
QP
(Quantity of expected profit)
: ปริมาณขายเพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมาย
P (Expected
Profit) : กำไรตามเป้าหมาย
( s
– v ) :
กำไรส่วนเกิน (Contribution margin)
1 – ( v / s ) : อัตราส่วนกำไรส่วนเกิน (Contribution marginal ratio)
กำไรส่วนเกินเป็นตัวเลขที่ช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างคร่าวๆ
หมายความว่า หากราคาขายมากกว่าต้นทุนผันแปร องค์กรจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะยังมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจหรือการผลิต
แต่หากราคาขายน้อยกว่าต้นทุนผันแปร องค์กรต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดต้นทุนผันแปรให้น้อยกว่าราคาขายซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนี้องค์กรอาจเลือกการเพิ่มราคาขาย แต่เป็นวิธีการที่ไม่นิยมเพราะทำให้ความสามารถเชิงการแข่งขันลดต่ำลง
อัตราส่วนกำไรส่วนเกินแสดงให้เห็นอัตราผลกำไรที่เกิดขึ้นเมื่อหักต้นทุนคงที่ออก
เนื่องจากเป็นต้นทุนที่เสียไปแล้วและไม่สามารถลดต้นทุนได้อย่างทันที
ดังนั้นราคาขายกับต้นทุนผันแปรจึงเป็นปัจจัยที่ใช้พิจารณาเพื่อการตัดสินใจ
ถ้าอัตราส่วนของต้นทุนผันแปรต่อราคาขายมีค่าสูง อัตราส่วนกำไรส่วนเกินจะมีค่าน้อย
แต่หากอัตราส่วนของต้นทุนผันแปรต่อราคาขายมีค่าน้อย อัตราส่วนกำไรส่วนเกินจะมีค่ามากจะสะท้อนให้เห็นผลกำไรที่มากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการ
เพราะฉะนั้น กำไรส่วนเกินและอัตราส่วนกำไรส่วนเกินจึงเป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งในการตัดสินใจผลิตสินค้าตัวใหม่
ที่เป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแข่งขันกันสูง ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่ากระบวนการมีความสามารถเพียงพอและไม่ส่งผลให้ต้นทุนคงที่สูงขึ้น
งบการเงิน (Financial statements)
งบการเงินเป็นรายงานทางด้านบัญชีที่แสดงฐานะขององค์กรทางการเงิน,
ผลการดำเนินงาน, การเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสด
และการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจด้านการเงิน ซึ่งประกอบด้วย
1.
งบดุล (Balance sheet) ประกอบด้วย ทรัพย์สิน (Assets), หนี้สิน (Liabilities) และส่วนของเจ้าของหรือทุน (Owner’s
equity หรือ Capital) รายงานนี้เป็นการตรวจสอบว่าทรัพย์สินสุทธิ
(Net assets) เท่ากับหนี้สินสุทธิ (Net liabilities) และทุน (Capital) ขององค์กร ซึ่งการตรวจสอบกำหนดไว้ทุกสิ้นปีงบประมาณ
งบดุลใช้สำหรับการตรวจสอบและวัดฐานะทางการเงิน (ทรัพย์สิน, หนี้สิน
และส่วนของเจ้าของ) ขององค์กร ณ วันใดวันหนึ่ง โดยที่
ทรัพย์สิน
= หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ หรือ
ทรัพย์สิน + ค่าใช้จ่าย = หนี้สิน
+ ส่วนของเจ้าของ + รายรับ
ทรัพย์สิน
สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
คือ
1.
ทรัพย์สินหมุนเวียน
คือ เงินสดหรือทรัพย์สินที่สามารถขายหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือใช้หมดไปภายใน 12 เดือน เช่น เงินสด,
ลูกหนี้การค้า, ตั๋วเงินรับ, รายได้ค้างรับ, สินค้าคงคลัง,
รายจ่ายล่วงหน้า, เงินลงทุนระยะสั้น, เงินให้กู้ยืมระยะสั้น เป็นต้น
2.
ทรัพย์สินไม่หมุนเวียน
คือ ทรัพย์สินที่จะถือไว้นานเกินกว่า 12 เดือน เช่น ที่ดิน, อาคาร, เครื่องจักร, อุปกรณ์, เงินลงทุนระยะยาว,
เงินให้กู้ยืมระยะยาว, ลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร, แฟรนไชส์, เครื่องหมายการค้า เป็นต้น
หนี้สิน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.
หนี้สินหมุนเวียน
คือ หนี้สินที่ต้องชำระคืนภายในหนึ่งปี เช่น เจ้าหนี้การค้า, รายได้รับล่วงหน้า, ตั๋วเงินจ่าย, ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย, เงินเบิกเกินบัญชี, เงินกู้ระยะสั้น
เป็นต้น
2.
หนี้สินไม่หมุนเวียน
คือ หนี้สินที่มีการชำระคืนนานเกินกว่า 1 ปี เช่น หุ้นกู้, เงินกู้ระยะยาว เป็นต้น
ส่วนของเจ้าของ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.
เจ้าของคนเดียว
ประกอบด้วย ส่วนของเจ้าของคนเดียว (Owner’s
equity)
2.
ห้างหุ่นส่วน
ประกอบด้วย ส่วนของหุ้นส่วน (Partners’
equity)
3.
บริษัท
ประกอบด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholders’
equity)
2.
งบกำไรขาดทุน
(Profit and loss account) ประกอบด้วย รายได้ (Revenues หรือ Turnover หรือ Sales) ที่หักลบด้วยต้นทุนการขาย
(Cost of sales) และค่าใช้จ่าย (Expenses) รวมทั้งหักลบด้วยดอกเบี้ย (Interest) และภาษี (Taxation)
ซึ่งจะคงเหลือเป็นกำไรที่สามารถนำไปจัดสรรเพื่อนำไปลงทุนเพิ่มเติม
หรือคืนให้กับผู้ถือหุ้น (Dividends) หรือถอนออกของเจ้าของ (Drawings)
งบกำไรขาดทุนใช้สำหรับวัดผลการดำเนินงานในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
รายได้
คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการดำเนินงาน เช่น เงินสดรับจากการขายสินค้าหรือบริการ,
เงินสดรับจากลูกหนี้, ดอกเบี้ยรับ, เงินสดรับจากการขายทรัพย์สิน เป็นต้น
ต้นทุนการขายและค่าใช้จ่าย
คือ รายจ่ายที่จะก่อให้เกิดรายได้ในภายหลัง เช่น ต้นทุนสินค้าหรือบริการ,
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร, ดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี เป็นต้น
3.
งบกระแสเงินสด
(Cash flow statement) เป็นการแสดงถึงการไหลเข้าและไหลออกของเงินสดขององค์กรในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
กิจกรรมที่ทำให้งบกระแสเงินสดเปลี่ยนแปลง คือ
1.
กิจกรรมการดำเนินงาน
(Operating activity) คือ
เงินสดที่ได้จากการขายสินค้าหรือบริการ
2.
กิจกรรมการลงทุน
(Investing activity) คือ
เงินสดรับหรือจ่ายที่ได้จากการขายทรัพย์สิน หรือจากการลงทุน
3.
กิจกรรมการจัดหาเงินทุน
(Financing activity) คือ
เงินสดรับหรือจ่ายสำหรับการได้มาหรือจ่ายคืนของเงินทุน
4.
งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ
(Statement of changes in
owner’s equity) ประกอบด้วย การแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น
และกำไรสะสม
5.
หมายเหตุประกอบงบการเงิน
(Supporting notes) ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน,
นโยบายการบัญชีที่เลือกใช้กับแต่ละรายการทางบัญชี, และข้อมูลเพิ่มเติม เช่น
การคำนวณค่าเสื่อมราคา, การตีราคาวัสดุหรือสินค้าคงคลัง,
วิธีการเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ, อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
ประโยชน์ของงบการเงิน เพื่อ
1.
การปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ
โดยการวิเคราะห์ข้อมูลของงบการเงิน ที่เรียกว่า การวิเคราะห์งบการเงิน
2.
การลงทุนเพิ่มโดยการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
ที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk
analysis) ในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
3.
การตัดสินใจสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
จากงบการเงินที่ได้กล่าวมาข้างต้น
สามารถแสดงความสัมพันธ์ของงบหลัก คือ งบดุล, งบกำไรขาดทุน
และงบกระเสเงินสดได้ดังรูปที่ 39
การบริหารและควบคุมต้นทุน
การบริหารและควบคุมต้นทุนเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนในองค์กรที่ต้องเฝ้าระวังต้นทุนไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง
การควบคุมต้นทุนจึงสามารถแยกได้ดังรูปที่ 40
การบริหารต้นทุน (Cost management) คือ กระบวนการจัดทำ, การตรวจสอบ และการทบทวนโครงสร้างต้นทุน
เมื่อพบว่าโครงสร้างต้นทุนผิดปกติจากโครงสร้างที่มีต้นทุนที่เหมาะสมที่สามารถแข่งขันได้
จะต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน การกำหนดต้นทุนเป้าหมาย (Target cost) ควรกำหนดไว้ล่วงหน้า
เพื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนแท้จริง และใช้วิเคราะห์ความแปรปรวน
กิจกรรมที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการบริหารต้นทุน
คือ การสร้างจิตสำนึกด้านต้นทุน (Cost mind) เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดและควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยพนักงานทุกคนต้องร่วมมือดำเนินกิจกรรมนี้อย่างจริงจัง และต้องปลูกฝังจิตสำนึกว่าทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน
คือ ค่าใช้จ่ายองค์กร ซึ่งแบ่งได้เป็น
1. ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ (Controllable
Expense) เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้แปรผันโดยตรงกับปริมาณการผลิตอย่างชัดเจน
ซึ่งประกอบด้วย
- ค่าจ้างแรงงานทางอ้อม (Indirect labor cost)
-
ค่าไฟฟ้า (Power expense)
- ค่าน้ำ (Water expense)
- ค่าบำรุงรักษา (Maintenance
expense)
- ค่าเช่า (Rental expense)
- ค่าเครื่องใช้โรงงานสำนักงาน
(Factory and office expense)
- ค่าวิจัยพัฒนา (Research and
development expense)
- ค่าการปรับปรุงงาน (Improvement
expense)
ค่าใช้จ่ายที่ไม่แปรผันโดยตรงตามปริมาณการผลิต
หมายความว่า หากผลิตมากขึ้นค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าปริมาณที่เพิ่มขึ้น
หากบริหารและควบคุมเป็นอย่างดีจะมีผลให้ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยลดต่ำลง และสร้างผลกำไรมากขึ้นหรือสามารถกำหนดราคาที่แข่งขันได้
ค่าใช้จ่ายนี้จะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์
2. ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable
Expense) เป็นต้นทุนที่แปรผันโดยตรงกับปริมาณการผลิต
ซึ่งประกอบด้วย
- แรงงานทางตรง (Direct
labor cost)
- แรงงานทางอ้อม
(Indirect labor cost)
- ค่าสวัสดิการ (Fringe
benefit)
- ค่าเสื่อม (Depreciation)
- ค่าประกันและภาษี (Insurance
and tax)
การป้องกันการรั่วไหลและควบคุมความสูญเปล่าของกระบวนการผลิต
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้น้อยลงได้
การสร้างจิตสำนึกด้านต้นทุนเป็นการลดความสูญเปล่าและความสูญเสียของกระบวนการ
เพราะจิตสำนึกจะปลูกฝังการดำเนินกิจกรรมที่ต้องตระหนักความคุ้มค่าของการลงทุน
วิธีการสร้างจิตสำนึกประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมาย, การวางแผนปฏิบัติงาน, การสื่อสารให้ข้อเท็จจริง, การสร้างความเข้าใจ, การสร้างความร่วมมือ,
การร่วมปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ, การตรวจสอบติดตาม
และการทบทวนปรับปรุงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
จากรูปที่ 41 เมื่อสร้างจิตสำนึกด้านต้นทุนจะส่งช่วยลดต้นทุน
(Cost Reduction) เช่น ค่าแรงต้นทุนลดจาก 10% เป็น 8%, ค่าวัตถุดิบลดจาก 90% เป็น 86% เป็นต้น การลดต้นทุนเป็นกิจกรรมหลักเพื่อรักษาระดับผลกำไรที่คาดหวังไว้ได้
จากรูปที่ 42 จะพบว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มลดต่ำลงทุกปี
ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผลกำไรลดน้อยลง ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการลงทุนเพื่อขยายกิจการก็ลดน้อยลง
ความสามารถเชิงการแข่งขันก็จะลดน้อยลงเช่นกัน หากต้นทุนสูงกว่าราคาขายที่แข่งขันได้จะทำให้ขาดทุนสะสม
ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรักษาระดับผลกำไร,
สร้างผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดีขึ้น และผู้ถือหุ้นพึงพอใจกับเงินปันผล ตัวอย่างกิจกรรมการลดต้นทุนของแต่ละหน่วยงาน
ประกอบด้วย
-
ฝ่ายการตลาด
เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อเพิ่มยอดขาย,
การลดค่าใช้จ่ายด้านเอกสารและพิธีการ เป็นต้น
-
ฝ่ายจัดซื้อ
เช่น การต่อรองราคา, การหาแหล่งชิ้นส่วนที่ถูกกว่า
เป็นต้น
-
ฝ่ายผลิต เช่น
การปรับปรุงกระบวนการทำงาน, การเพิ่มทักษะการทำงาน,
การว่าจ้างผู้ผลิตภายนอก (Out
sourcing) เป็นต้น
-
ฝ่ายออกแบบ
เช่น ออกแบบให้ง่ายต่อการประกอบ, เลือกชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันได้ (Common
part), ดำเนินกิจกรรม VE (Value
engineering) เป็นต้น
-
ฝ่ายคุณภาพ
เช่น
เปลี่ยนกระบวนการควบคุมคุณภาพเป็นการประกันคุณภาพโดยพนักงานทุกคนต้องเป็นผู้ตรวจสอบ, การกำหนดมาตรการป้องกันของเสีย เป็นต้น
-
ฝ่ายคลังสินค้า
เช่น ดำเนินกิจกรรม JIT (Just in time), กิจกรรม FIFO (First come first serve),
การบริหารพื้นที่คลังสินค้า เป็นต้น
การประหยัดเชิงขนาด (Economies of Scale) เป็นการลดต้นทุนด้วยการผลิตหรือสั่งสินค้าเป็นจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย
เช่น ค่าจ้างพนักงาน, ค่าเอกสารจัดซื้อ,
ค่าการเปลี่ยนรุ่นหรือแม่พิมพ์ เป็นต้น โรงงานอุตสาหกรรมที่เคยผลิตชิ้นส่วนแบบครบวงจร
เปลี่ยนกลยุทธ์สั่งซื้อแทนการผลิตเองเพราะต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากผู้ผลิตมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
และเน้นการผลิตปริมาณมากจึงทำให้การสั่งซื้อมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตเอง
องค์กรขนาดใหญ่ (Large Entrepreneur) โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ (Multi Nation
Company: MNC) จะได้เปรียบจากการประหยัดเชิงขนาด เนื่องจากสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากแล้วส่งขายไปยังต่างประเทศทั่วโลก
หรือสามารถจัดส่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนไปให้บริษัทลูกที่อยู่ในประเทศต่างๆ และมีอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อ
ซึ่งมักพบในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรถยนต์
การควบคุมต้นทุนอาจควบคุมเปอร์เซ็นต์ของต้นทุนเทียบกับต้นทุนรวม
เช่น ต้นทุนวัตถุดิบเท่ากับ 70%, ต้นทุนขบวนการผลิต เท่ากับ 20% และต้นทุนการบริหาร
เท่ากับ 10% เพื่อการติดตามและตรวจสอบความผิดปกติ เพื่อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับลดต้นทุนอย่างรวดเร็ว
การควบคุมต้นทุนโรงงานอาจควบคุมค่าใช้จ่ายของแต่ละหน่วยงานด้วยอัตราค่าใช้จ่ายของแผนก
(Shop rate) ซึ่งเป็นอัตราค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อชั่วโมงการทำงาน (บาทต่อชั่วโมง)
การควบคุมต้องตรวจสอบและเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงกับต้นทุนมาตรฐาน
โดยที่ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงควรน้อยกว่าหรือเท่ากับต้นทุนมาตรฐาน หากพบความผิดปกติแล้วต้องกำหนดวิธีการและมาตรฐานป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำทันเพื่อของเงินลงทุน
ต้นทุนคุณภาพ (Quality cost)
ต้นทุนคุณภาพเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นเมื่อกระบวนการได้ผลิตสินค้าหรือบริการที่ด้อยคุณภาพ
หรือไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
คุณภาพที่มีมากเกินความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้าจะมีผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
หากคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการมากขึ้นต้นทุนการผลิตและต้นทุนคุณภาพก็จะเพิ่มสูงขึ้น
การปรับปรุงคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้าจะเกิดต้นทุนส่วนเพิ่ม
แต่เป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเกิดปัญหาด้านคุณภาพ
นั้นก็คือ ต้นทุนก่อนเกิดปัญหาคุณภาพจะน้อยกว่าต้นทุนหลังเกิดปัญหาคุณภาพเสมอ
ดังนั้นการดำเนินการของแต่ละกระบวนการจะต้องทำให้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก (Do right things right the fist time) มิเช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดต้นทุนคุณภาพ
4 หัวข้อ ดังนี้
1. ต้นทุนการป้องกัน (Cost of prevention) เกิดจากการแก้ไขและป้องกันการเกิดปัญหาคุณภาพภายในกระบวนการ
เช่น ค่าใช้จ่ายการปรับเปลี่ยนกระบวนการ, ต้นทุนการอบรมและสร้างจิตสำนึกด้านคุณภาพ,
ต้นทุนสำหรับการสร้างมาตรฐานของกระบวนการที่เคร่งงวดมากขึ้น เป็นต้น
2. ต้นทุนการประเมิน (Cost of Appraisal) เกิดจากการวิเคราะห์และบ่งชี้ถึงปัญหาคุณภาพที่อาจจะเกิดขึ้น
กระบวนการนี้เกิดขึ้นก่อนการจัดส่งผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับลูกค้า เช่น
การตรวจวัดหรือตรวจสอบคุณภาพของแต่ละกระบวนการ และก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า,
การลงทุนเพิ่มของเครื่องมือตรวจสอบ เป็นต้น
3. ต้นทุนความผิดพลาดภายใน (Cost of internal failure) เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต เช่น
วัตถุดิบนำเข้าไม่ได้มาตรฐาน, เครื่องจักรเกิดการเสียหาย,
วัตถุดิบหรือชิ้นงานที่ต้องกำจัดทิ้ง (Scrap), การตรวจสอบซ้ำ
(Re-inspection), การซ่อมแก้ไขชิ้นงาน (Rework) เป็นต้น
4. ต้นทุนความผิดพลาดภายนอก (Cost of external failure) เกิดขึ้นหลังจากจัดส่งผลิตภัณฑ์แล้ว เช่น
การส่งคืนของสินค้า, การคืนเงินให้กับลูกค้า, การรับประกันคุณภาพสินค้า, ต้นทุนการเสียโอกาสทางการตลาด,
การสูญเสียความเชื่อมั่นในสินค้าของลูกค้า เป็นต้น
การป้องกันการเกิดปัญหาคุณภาพ
(Preventive action) จะก่อให้เกิดต้นทุนที่น้อยกว่าการแก้ไข (Corrective action) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น
(Product failure) ดังนั้น
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องวางแผนและควบคุมกระบวนการให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
การส่งมอบ (Delivery) กลไกการรักษาลูกค้า
การส่งมอบ (Delivery) หมายถึง
การจัดส่งสินค้าด้วยปริมาณ, คุณภาพ และภายในเวลาที่ลูกค้าต้องการ เพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้า
หากการส่งมอบไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านปริมาณ, คุณภาพ หรือเกิดความล่าช้า
อาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าอื่นหรือเลือกสินค้าทดแทน เมื่อลูกค้าได้ทดลองและพึงพอใจกับสินค้า
จะส่งผลต่อยอดขายสินค้าลดลงและสูญเสียตลาดให้กับผู้ผลิตรายอื่น ดังนั้น
การจัดส่งจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่
จากรูปที่ 43 จะพบว่า การจัดส่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไหลของงานการผลิต เริ่มต้นตั้งแต่หน่วยงานการตลาดรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า
แล้ววางแผนการจัดส่งสินค้าและส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานวางแผนการผลิต (Planning)
เพื่อกำหนดประเภทและปริมาณวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการผลิตหรือการประกอบ
ช่วงเวลานี้เรียกว่า เวลานำการวางแผน (Planning
lead time) แล้วจึงส่งข้อมูลต่อให้กับหน่วยงานจัดซื้อจัดหาเพื่อออกคำสั่งซื้อ
(Purchase order: P/O)
ภายในช่วงเวลานำนี้ผู้ผลิตหรือผู้จัดส่ง (Supplier)
ต้องจัดเตรียมวัตถุดิบและผลิตชิ้นส่วน
แล้วจัดส่งวัสดุสำเร็จรูปให้กับลูกค้าเพื่อจัดเก็บในคลังวัสดุ ซึ่งเรียกว่า เวลานำการสั่งซื้อ
(Purchase lead time) เมื่อวัสดุที่จัดเก็บในคลังวัสดุได้รับการเบิกจ่าย
แล้วถูกจัดส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือการประกอบ จนแล้วเสร็จเป็นสินค้าสำเร็จ (Finished Goods) ที่นำไปจัดเก็บไว้ในคลังสินค้า
จะเรียกช่วงนี้ว่า เวลานำการผลิต (Production
Lead Time) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอาจต้องกำหนดค่าเผื่อปริมาณสินค้าคงคลังหากความสามารถของกระบวนการผลิตไม่เพียงพอ,
เครื่องจักรเสีย, ไฟฟ้าดับ, วัสดุด้อยคุณภาพ, ความต้องการเร่งด่วน
หรือปริมาณความต้องการแท้จริงมากกว่าปริมาณการสั่งซื้อ ช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์ถูกจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าถูกเบิกจ่าย,
ขนส่ง และส่งมอบให้กับลูกค้า จะเรียกว่า เวลานำการจัดส่ง (Delivery lead time หรือ Shipment lead time)
เวลาการจัดส่ง (Delivery Time) คือ เวลาที่จัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า
เริ่มต้นเมื่อสินค้าในคลังสินค้าได้รับการตรวจสอบเพื่อการจัดส่ง (Delivery inspection) ทั้งด้านปริมาณ, คุณภาพ
และเวลาที่ลูกค้าต้องการ แล้วส่งมอบสินค้าให้ถึงมือลูกค้าภายในเวลาที่กำหนด (Due date)
ระยะเวลารวมของกระบวนการไหลของผลิตภัณฑ์
จะเป็นตัวบ่งชี้ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น เวลานำการวางแผนเท่ากับ
1 วัน เวลานำการสั่งซื้อ 5 วัน
เวลานำการผลิต 7 วัน และเวลานำการขนส่ง 2 วัน รวมเวลานำทั้งหมดเท่ากับ 15 วัน
หากผู้ผลิตรายอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันแต่มีเวลานำของผลิตภัณฑ์เท่ากับ 10
วัน จะสามารถช่วงชิงกลุ่มลูกค้าเพิ่มได้
การส่งมอบทันเวลา (Just in time delivery: JIT delivery) คือ การส่งมอบสินค้าที่จำเป็นหรือที่ลูกค้าต้องการ ด้วยคุณภาพ, ปริมาณ
และภายในเวลาที่กำหนด
การจัดส่งวัสดุเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยตรง
(Direct part supply) เป็นหนึ่งวิธีการในการควบคุมปริมาณวัสดุคงคลังและลดพื้นที่การจัดเก็บ
รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาหรือการขนย้ายที่เกิดขึ้นระหว่างการรอการผลิตหรือค่าจ้างพนักงานที่ดูแลและตรวจสอบวัสดุ
หลักการของวิธีการนี้ คือ
การนำเข้าวัสดุเพียงพอสำหรับการผลิตเป็นรายวัน, ทุกสองชั่วโมง หรือทุกชั่วโมง
แล้วจัดส่งตรงเข้าไปยังกระบวนการผลิต จะไม่จัดเก็บไว้ในคลังวัสดุหรืออาจจัดเก็บบ้างกรณีจำเป็น
กล่าวง่ายๆคือ การจัดส่งวัสดุด้วยปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง
ดังนั้นการบริหารวัสดุจึงต้องใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ช่วยเพื่อตรวจสอบปริมาณวัสดุคงคลัง,
ปริมาณวัสดุที่กำลังจัดส่ง และดำเนินการสั่งซื้อให้ทันต่อความต้องการ
การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเลคทรอนิค (Electronic data interchange: EDI) เป็นการรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ปัจจุบันนิยมใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการส่งถ่ายข้อมูลที่รวดเร็วและประหยัด รวมทั้งช่วยลดการใช้กระดาษ
(Paperless) และเพิ่มประสิทธิผลการติดต่อสื่อสาร
ประโยชน์ของวิธีการนี้ คือ
ช่วยลดต้นทุนจมของวัสดุคงคลังที่ไม่หมุนเวียน, ลดต้นทุนการจัดเก็บ,
ลดต้นทุนการบริหารจัดการวัสดุคงคลัง, ลดความเสียหายจากการขนย้ายบ่อยครั้ง,
ลดปัญหาวัสดุคงคลังที่ด้อยคุณภาพ, เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตเพื่อให้วัสดุไหลรื่นต่อเนื่อง,
เพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งไม่ควรอยู่ไกลนักเพื่อลดต้นทุนการขนส่งหรือความล่าช้าของการจัดส่ง
ความล่าช้า (Delay) คือ เวลาสูญเปล่าที่ทำให้เกิดการรอคอย
เช่น การจัดส่งชิ้นส่วนล่าช้า, การสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยก่อนเริ่มงาน,
การตรวจสอบเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือการเติมน้ำมันหล่อลื่น เป็นความสูญเปล่าที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับผลิตภัณฑ์
กระบวนการผลิตต้องหยุดเพื่อรอความพร้อมซึ่งเป็นการสูญเสียแฝงในการทำงาน
และอาจมีผลให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งชิ้นงานให้กับกระบวนการถัดไปหรือจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า
การตรวจสอบและติดตามผลการจัดส่งวัสดุหรือสินค้าควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เพื่อปรับปรุงระบบการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน
และพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า รูปแบบการตรวจติดตามการจัดส่ง
ดังตารางที่ 7
ความปลอดภัย (Safety) สวัสดิการหลักของการทำงาน
ความปลอดภัย คือ สภาพการณ์ที่ไม่มีภัยคุกคาม (Hazards), อันตราย (Danger)
หรือความเสี่ยง (Risk)
ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและมีผลทำให้ความสามารถในการทำงานลดต่ำลง,
ก่อให้เกิดความเสียหาย (Damage) ต่อร่างกาย (เช่น การบาดเจ็บ, การพิการ, โรคภัย) หรือต่อทรัพย์สิน และยังเป็นต้นทุนสูญเปล่าที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ
ภัยคุกคามหรือภัย หมายถึง สภาพการณ์ที่มีแนวโน้มที่ทำให้ความสามารถในการทำงานลดต่ำลง
และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย, ชีวิต หรือทรัพย์สิน ซึ่งประกอบด้วย
1.
ภัยจากสภาพแวดล้อมทางเคมี
(Chemical environmental hazards) คือ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ใช้สารเคมีในกระบวนการ เช่น สารพิษ, ก๊าซพิษ,
ตัวทำละลาย, สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น
2.
ภัยจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical
environmental hazards) คือ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ร่างกายได้รับจากกายสัมผัสอย่างไม่เพียงพอหรือมากเกินไป
เช่น เสียง, แสงสว่าง, การสั่นสะเทือน, ความร้อน, รังสี, ความกดอากาศ เป็นต้น
3.
ภัยจากสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological
environmental hazards) คือ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ได้รับจากชีวภาพ เช่น
เชื้อโรค, แมลง, ฝุ่นละอองจากพืชหรือสัตว์ เป็นต้น
4.
ภัยจากสภาพแวดล้อมทางการยศาสตร์ (Ergonomics) คือ
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน เช่น ท่าทางการปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง,
สภาพร่างกายกับวิธีการปฏิบัติงานไม่เหมาะสมกัน,
การปฏิบัติงานซ้ำซากที่ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นต้น
ภัยที่กล่าวมาข้างต้นถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย
ดังนั้นจึงควรมีการตรวจติดตามและปรับปรุงภัยเหล่านี้ให้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
อันตราย หมายถึง ผลต่อเนื่องจากภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
ความเสี่ยง หมายถึง ระดับโอกาสของการเกิดอันตราย
ความเสียหาย
หมายถึง การบ่งชี้ถึงระดับความรุนแรงของภัยและอันตราย เช่น อาการบาดเจ็บ,
การสูญเสียของทรัพย์สิน (เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าทดแทนการว่างงาน,
ค่าเสียเวลาการหยุดงาน, ค่าเสียโอกาสทางการขาย) เป็นต้น
อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน,
ไม่ได้วางแผน หรือไม่ได้ตั้งใจ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย, ชีวิตและทรัพย์สิน
รวมทั้งเสียขวัญในการทำงาน
สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้จาก
1.
การกระทำที่ไม่ปลอดภัย
(Unsafe action) หมายถึง
การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก
1.1
ผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำงานที่ปลอดภัย
1.2
ผู้ปฏิบัติงานไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล
1.3
ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้รับฝึกอบรมให้มีความรู้ในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ
1.4
ผู้ปฏิบัติงานประมาท,
เลินเล่อ, พลั้งเผลอ, หลงลืม, ดื้อรั้น, หยอกล้อ หรือขาดสมาธิ
1.5
ผู้ปฏิบัติงานมีความผิดปกติหรือความบกพร่องส่วนบุคคล
เช่น ตกใจง่าย, มือสั่น, ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ใหม่ เป็นต้น
2.
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย
(Unsafe condition) ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก
2.1
เครื่องจักรชำรุดเสียหายหรือสภาพการใช้งานไม่สมบูรณ์
2.2
ระบบป้องกันความปลอดภัยไม่มีประสิทธิภาพ
เช่น ตัวครอบเครื่องจักรหลุดออก, ท่อดูดกลิ่นได้เพียงบางสวย เป็นต้น
2.3
วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย
เช่น ของแหลมคม, เป็นผง, การจัดเก็บวางสิ่งของไม่เรียบร้อย เป็นต้น
2.4
การออกแบบแผนผังโรงงานไม่เหมาะสม
เช่น เส้นทางวิ่งรถโฟลค์ลิฟต์แคบเกินไป, บันไดชันเกินไป,
ท่อลำเลียงสารเคมีอยู่ต่ำเกินไป เป็นต้น
2.5
ปัจจัยแวดล้อม
เช่น อาคารชำรุดไม่แข็งแรง, แสงสว่างมีไม่เพียงพอ, เครื่องจักรทำงานเสียงดัง, ความร้อนสูง,สารเคมีฟุ้งกระจาย
เป็นต้น
การวิเคราะห์ความปลอดภัยในการทำงาน
(Job safety analysis)
การวิเคราะห์ความปลอดภัยในการทำงานเป็นการวิเคราะห์กระบวนการปฏิบัติงาน,
เครื่องจักร, วิธีการปฏิบัติงาน และปัจจัยแวดล้อมในการทำงาน
เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของของภัยคุกคาม, อันตราย หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่บ่งชี้ภัยคุกคาม (Hazard
identification) มีขั้นตอน ดังนี้
1.
การเลือกกระบวนการปฏิบัติงาน,
เครื่องจักร, วิธีการปฏิบัติงาน
หรือปัจจัยแวดล้อมในการทำงานที่จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ โดยอาจพิจารณาหลักเกณฑ์
ดังนี้
1.1
ความรุนแรงของอันตรายที่เกิดขึ้น
1.2
ความถี่ของอันตรายที่เกิดขึ้น
1.3
แนวโน้มของการเกิดอันตราย
2.
การแบ่งแยกให้เป็นกิจกรรมย่อย
เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์
3.
การตรวจสอบกิจกรรมย่อยและระบุปัจจัยเสี่ยง
เช่น การลื่นหกล้ม, เครื่องจักรหนีบมือ, การฟุ้งกระจายของสารเคมี, การสูดดมสารพิษ
เป็นต้น โดยบ่งบอกว่าแต่ละกิจกรรมนั้นเกิดขึ้นอย่างไร และระบุถึงสาเหตุของภัยคุกคาม,
อันตราย หรือความเสี่ยง เพื่อตรวจสอบ, เฝ้าติดตาม และทบทวนผลการวิเคราะห์
4.
การกำหนดมาตรการสำหรับจุดควบคุมอันตรายหรือข้อควรระมัดระวังในการทำงาน
ซึ่งอาจกำหนดจากแหล่งกำเนิดของอันตราย, สภาพแวดล้อม และพนักงานผู้ปฏิบัติงาน
การวิเคราะห์ความปลอดภัยในการทำงานควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานปฏิบัติงาน,
หัวหน้างาน, วิศวกร และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่ต้องทำงานร่วมกัน
ประโยชน์ของการวิเคราะห์ความปลอดภัยในการทำงาน
คือ
1.
ปรับปรุงการทำงานเพื่อลดอันตรายให้น้อยลง
2.
กำหนดเป็นคู่มือในการฝึกอบรมพนักงานด้านความปลอดภัย
3.
ประเมินงบประมาณการปรับปรุงการทำงานด้านความปลอดภัย
การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)
การประเมินความเสี่ยงเป็นการวิเคราะห์แนวลึกของกระบวนการปฏิบัติงาน,
เครื่องจักร, วิธีการปฏิบัติงาน หรือปัจจัยแวดล้อมในการทำงาน
เพื่อให้ทราบถึงโอกาสและความรุนแรงของแต่ละปัจจัยเสี่ยงนั้น โดยที่
การพิจารณาระดับโอกาสของการเกิดอันตราย
สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
1.
ระดับโอกาสการเกิดขึ้นมาก
คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
2.
ระดับโอกาสการเกิดขึ้นปานกลาง
คือ เหตุการณ์ที่นานๆเกิดขึ้นที
3.
ระดับโอกาสการเกิดขึ้นน้อย
คือ เหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้
ระดับความรุนแรงของอันตราย
สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
3
ระดับความรุนแรงมาก
เช่น การสูญเสียอวัยวะ, กระดูกหัก, การเป็นโรคร้าย (เช่น มะเร็ง, โรคปอด), การตาย เป็นต้น
3
ระดับความรุนแรงปานกลาง
เช่น การเกิดบาดแผลฉีกขาดหรืออักเสบ, การเกิดแผลไฟไหม้, กระดูกแตกร้าว เป็นต้น
3
ระดับความรุนแรงน้อย
เช่น การเกิดผิวหนังระคายเคือง, การบาดเจ็บเล็กน้อย, การป่วยไม่สบายเล็กน้อย (เช่น วิงเวียนศีรษะ, ปวดหัว) จากการทำงาน
เป็นต้น
การประเมินความเสี่ยง ก็คือ การประเมินเหตุการณ์ของแต่ละระดับโอกาสของการเกิดอันตรายกับระดับความรุนแรงของอันตราย
ซึ่งแสดงรายละเอียดในตารางที่ 8
การบริหารความปลอดภัย (Safety management)
การบริหารความปลอดภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมและรักษาอัตราการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด
หรือเพิ่มระยะเวลาการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งให้ยาวนานขึ้น ซึ่งอาจกำหนดเป็นชั่วโมงหรือวันขึ้นกับประเภทของกระบวนการ
การบริหารงานความปลอดภัยต้องใช้หลักวิชาการ,
ความรู้
และเทคโนโลยีเข้าช่วยในการสืบค้นและดำเนินการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น
เป้าหมายของการบริหารงานความปลอดภัย ประกอบด้วย
1.
การสนับสนุนและรักษาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
2.
การป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามของสภาพแวดล้อม
ที่มีผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการสูญเสียต่อทรัพย์สิน
3.
การคุ้มครองไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน
4.
การจัดการให้พนักงานปฏิบัติงานในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
โดยคำนึงถึงความสามารถทางร่างกายและจิตใจ
5.
การปรับสภาพงานหรือปรับปรุงระบบงานหรือสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้ปฏิบัติงาน
หลักเกณฑ์และกลยุทธ์การบริหารความปลอดภัย
ประกอบด้วย
1.
กำหนดนโยบายความปลอดภัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บ่งชี้หน้าที่ของพนักงาน
เช่น
2.
การวางแผนงานและกิจกรรมที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน
ซึ่งควรจัดทำเป็นประจำทุกปี (ประธานฯ คือ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัย,
คณะกรรมการฯ คือ คณะกรรมการความปลอดภัย, จป. คือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย)
3.
การจัดตั้งหน่วยงานความปลอดภัยที่เหมาะสมกับขนาดและประเภทขององค์กร
หากองค์กรมีขนาดเล็กหรือขนาดกลางและโอกาสหรือความรุนแรงของอันตรายค่อนข้างน้อย อาจกำหนดให้หน่วยงานความปลอดภัยขึ้นอยู่กับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์
หากองค์กรมีขนาดใหญ่และโอกาสหรือความรุนแรงของอันตรายค่อนข้างสูง
อาจกำหนดให้หน่วยงานความปลอดภัยแยกเป็นฝ่ายความปลอดภัย หรือเป็นหน่วยงานสนับสนุนที่มีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงกับประธานบริษัท
4.
การจัดตั้งคณะกรรมการ
โดยการเลือกสรรบุคลากรที่เหมาะสมจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อจูงใจและประสานความร่วมมือทั่วทั้งองค์กร
คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้
1
กำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับนโยบายความปลอดภัย
2
ศึกษากระบวนการและวิธีการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย
3
นำเสนอกิจกรรมการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย
4
ดำเนินการฝึกอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
5
ประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในกับหน่วยงานภายนอก
เพื่อพัฒนาระบบและกิจกรรมความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
5.
การวิเคราะห์โอกาสของการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน, วิศวกร, เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย
และผู้บังคับบัญชา
การอบรมการพยากรณ์อุบัติเหตุล่วงหน้า
(Kiken yoshi training: KYT)
Kiken แปลว่า อันตราย, Yoshi แปลว่า การพยากรณ์ล่วงหน้า, Training แปลว่า การอบรมให้มีความชำนาญ
ซึ่งจะช่วยเตือนสติก่อนการปฏิบัติงาน และเล็งเห็นสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย
เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัยและลดความผิดพลาดในการทำงาน (Human error) ขั้นตอนพื้นฐานของ KYT
คือ
1. จัดกลุ่มและเอารูปมาดู
ซึ่งอาจเป็นรูปวาดหรือรูปถ่าย
2. บ่งชี้สาเหตุและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
3. กำหนดแนวทางป้องกัน
4. กำหนดวิธีการปฏิบัติงาน
5. มือชี้, ปากย้ำเตือนสติ และกล่าวว่า “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์”
6.
การบริหารเชิงรุกด้วยการมุ่งเน้นค้นหาและป้องกันที่ต้นเหตุของอุบัติเหตุโดยให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน
การดำเนินการควรจัดทำให้บ่อยครั้งอย่างน้อยสามเดือนครั้ง
เพื่อสกัดกั้นก่อนการเกิดอุบัติเหตุ
7.
การบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด
การพิจารณาโอกาสและความรุนแรงของอันตรายจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะความเสี่ยงระดับปานกลางขึ้นไป
8. การกำหนดการประเมินผลด้านความปลอดภัยเป็นประจำทุกเดือน
เพื่อติดตามแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุและความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมการปรับปรุงงานของแต่ละหน่วยงาน
9.
การปฏิบัติตามคู่มือความปลอดภัยและข้อกำหนดของกฎหมายปลอดภัย
โดยการจูงใจ
คู่มือความปลอดภัย
(Safety manual) เป็นคู่มือการปฏิบัติงานที่นำเสนอรายละเอียดการทำงานที่ปลอดภัย
11.
การฝึกอบรมการปฏิบัติงานและความปลอดภัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง
12.
การประชุมเป็นประจำทุกเดือนเพื่อติดตามปัญหาและการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
และต้องมีการจดบันทึกรายงานการประชุมทุกครั้ง
เพื่อใช้อ้างอิงและตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ
ดำเนินงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายใน,
หน่วยงานภายนอก หรือหน่วยงานราชการ
เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรสอดคล้องกับกฎหมาย
การบริหารความปลอดภัยที่ดีควรคำนึงถึงการจัดวางแผนผังโรงงานที่ดี
เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้
1.
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามหลักการ
5ส.
2.
ระบบป้องกันอัคคีภัยและการจัดวางอุปกรณ์ดับเพลิง
3.
ทางออกฉุกเฉินหรือทางหนีไฟ
4.
การจัดวางเครื่องจักร
และอุปกรณ์ป้องกันอันตราย
5.
ระบบแสงสว่างที่เพียงพอสำหรับแต่ละประเภทงาน
6.
การจัดวางตำแหน่งเครื่องจักรที่อันตรายหรือสารเคมีให้เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน
7.
การสั่นสะเทือนหรือความดังของเสียงต้องไม่สูงเกินไป
และควรกำหนดที่ตั้งให้เหมาะสม
8.
เส้นทางวิ่งรถโฟล์คลิฟต์และทางเดินเท้าภายในและภายนอกโรงงาน
9.
ระบบระบายอากาศ,
การกำจัดกลิ่นหรือไอระเหยสารเคมี
10.
สภาพแวดล้อมที่ดีต่อสภาพจิตใจในการทำงาน
การบริหารความปลอดภัยสามารถสรุปได้เป็น
3E คือ
1. Engineering (วิศวกรรม) คือ การวางแผน,
การออกแบบ, ก่อสร้างหรือปรับเปลี่ยนสถานที่, เครื่องจักร
หรือุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานและลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ
2. Education (การฝึกอบรม) คือ การฝึกอบรม
และตรวจติดตามผลการอบรมอย่างต่อเนื่อง
3. Enforcement (การบังคับใช้) คือ
การกำหนดนโยบายความปลอดภัย, คู่มือความปลอดภัย,
หรือแผนงานที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
รวมทั้งการปฏิบัติงานตามกฎหมายด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยทั้งในกรณีปกติและฉุกเฉิน
บอร์ดรายงานผลความปลอดภัย
บอร์ดรายงานผลความปลอดภัยเป็นบอร์ดแสดงข้อมูลด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการ
หรือโรงงาน เช่น อัตราการเกิดอุบัติเหตุ, จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ,
กราฟแสดงจำนวนการเกิดอุบัติเหตุแต่ละเดือน เป็นต้น บอร์ดนี้ควรแสดงไว้ในพื้นที่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน
เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ตระหนักและช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่จะติดไว้บริเวณหน้าโรงงานหรือหน้าตึกของฝ่ายบริหาร
ซึ่งจะทำให้ทีมผู้บริหาร, ลูกค้า, ผู้ผลิต, ตัวแทนจำหน่าย
หรือผู้ที่มาติดต่อกับบริษัทได้มองเห็นได้ชัดเจน
รูปแบบบอร์ดสามารถแสดงได้ดังรูปที่ 47
สีกับความปลอดภัย
สีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยประกอบ 4 สีหลัก คือ แดง, น้ำเงิน, เขียว
และเหลือง
แต่ละสีจะแสดงความหมายที่แตกต่างกันเพื่อให้ผู้พบเห็นจะต้องตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
และต้องปฏิบัติตามจึงจะช่วยลดอุบัติเหตุหรือจัดการกับความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ป้ายความปลอดภัย (Safety sign)
เครื่องหมายความปลอดภัย หมายถึง
เครื่องหมายที่ทำหน้าที่สื่อความหมายให้ตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัย
อาจแสดงเป็นป้าย, สัญลักษณ์ หรือข้อความที่มีสีที่เป็นตัวบ่งชี้ความหมาย
เครื่องหมายเสริม หมายถึง
เครื่องหมายที่ใช้ร่วมกับเครื่องหมายความปลอดภัยในบางกรณี
เพื่อแสดงความหมายที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังรูปที่ 48
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
หรือ จป. (Safety officer)
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หมายถึง
ลูกจ้างผู้ซึ่งนายจ้าง
แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานซึ่งมีระดับพื้นฐาน,
ระดับหัวหน้างาน, ระดับบริหาร และระดับวิชาชีพ
สถานประกอบกิจการหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีพนักงานตั้งแต่
1 – 49 คน
ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับพื้นฐาน, ระดับหัวหน้างาน
และระดับบริหาร แต่หากมีพนักงานมากกว่า 50 คนขึ้นไป
ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน, ระดับบริหาร
และระดับวิชาชีพ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับพื้นฐาน
มีหน้าที่ ดังนี้
1. แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง
คำแนะนำ หรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
2. สำรวจสภาพการทำงาน
และรายงานสภาพความไม่ปลอดภัยตลอดจนเสนอแนะแนวทางการแก้ไขต่อนายจ้าง
3. รายงานการเกิดการประสบอันตราย
หรือการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้างโดยไม่ชักช้า
4. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
5. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานตามที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานรัดดับหัวหน้างานหรือระดับบริหารมอบหมาย
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
มีหน้าที่ ดังนี้
1. กำกับ ดูแล ให้ลูกจ้างในหน่วยงานรับผิดชอบ
ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน
2. สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
3. ตรวจสอบสภาพการทำงานเครื่องจักร เครื่องมือ
และอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
4. ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย
การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญ
อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับพื้นฐานหรือระดับวิชาชีพและรายงานผลรวมทั้งข้อเสนอแนะต่อนายจ้างเพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
5. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน
6. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานตามที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร
1. กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับพื้นฐาน
ระดับหัวหน้างาน และระดับวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ
คำสั่ง หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ
มีหน้าที่ ดังนี้
1. ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน
2. จัดทำแผนงาน โครงการ
มาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานเสนอต่อนายจ้าง
3. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามแผนงาน
โครงการหรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
4. กำกับดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง
หรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
5. แนะนำ ฝึกสอน
อบรมลูกจ้างเพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
6. ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วย
หรือการเกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญ อันเนื่องมาจากการทำงาน
และรายงานผลรวมทั้งข้อเสนอแนะต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
7. รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล สถิติ และจัดทำรายงาน
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อน
รำคาญอันเนื่องมาจากการทำงานของลูกจ้าง
การเกิดอัคคีภัย
อัคคีภัย
คือ ภัยที่เกิดจากไฟที่ไม่สามารถควบคุมได้ทันที
และลุกลามต่อเนื่องก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าเป็นภัยที่ต้องเฝ้าระมัดระวังเป็นพิเศษ
เพราะความสูญเสียมากมายมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องตรวจสอบและกำจัดสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้
รวมทั้งจำเป็นต้องเรียนรู้และทำเข้าใจในหัวข้อต่อไปนี้
สาเหตุของการเกิดอัคคีภัย
การเกิดอัคคีภัยภายในสถานประกอบการหรือโรงงาน
เกิดขึ้นจากการขาดความระมัดระวัง, ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
หรือการตรวจตราไม่ถ้วนถี่อย่างสม่ำเสมอ สาเหตุที่ก่อให้เกิดอัคคีภัย ประกอบด้วย
1.
อุปกรณ์ไฟฟ้า
เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เกิดความร้อนและประกายไฟขึ้น
อาจมีต้นเหตุมาจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ถูกประเภทหรือไม่ได้มาตรฐาน, การห่อหุ้มฉนวนไฟฟ้าไม่ถูกต้องเรียบร้อย,
การจัดวางเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่ายไว้ใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือระบบ 5ส. ไม่เข้มงวด
2.
เครื่องจักรเกิดการเสียดทานและก่อให้เกิดความร้อน
อาจมีต้นเหตุมาจากการตรวจสอบเครื่องจักรไม่ถ้วนถี่เป็นประจำ,
ระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักรมีข้อบกพร่อง
หรือเครื่องจักรได้รับการออกแบบหรือปรับเปลี่ยนไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน
3.
สะเก็ดไฟ,
ประกายไฟ หรือเปลวไฟจากการตัดโลหะ, การเชื่อม หรือเตาเผาที่ครอบปิดไม่มิดชิด
อาจมีต้นเหตุมาจากการจัดวางตำแหน่งการทำงานหรืออุปกรณ์ไม่เหมาะสม,
อุปกรณ์หรือฝาครอบเก่าชำรุดเสียหาย
หรือพนักงานไม่ได้รับการอบรมการใช้อุปกรณ์อย่างปลอดภัย
4.
ปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดการจุดติดไฟหรือระเบิดได้ง่าย
อาจมีต้นเหตุมาจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์, ประมาท, พลั้งเผลอ
หรือการจัดเก็บสารเคมีไม่ถูกต้อง
5.
การสูบบุหรี่นอกพื้นที่ที่กำหนดไว้
เพราะก้นบุหรี่หรือไม่ขีดไฟที่ทิ้งไม่เรียบร้อยจุดติดไฟกับเศษกระดาษ
หรือวัตถุไวไฟได้
การป้องกันการเกิดอัคคีภัย
การป้องการการเกิดอัคคีภัยจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
ควรปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้
1.
การตรวจตราบำรุงรักษาอย่างจริงจัง
กำหนดจุดและวิธีการตรวจสอบเครื่องจักรที่ชัดเจนทุกวันหรือทุกสัปดาห์ที่แน่นอนโดยพนักงานประจำเครื่อง
หรือพนักงานซ่อมบำรุง
2.
การตรวจสอบความเสี่ยงการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ทำงานโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเป็นประจำทุกเดือน
3.
กาจัดเก็บสารเคมีให้เรียบร้อยปลอดภัย
โดยจัดเก็บสารเคมีตามเอกสารข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ (Material safety data sheet: MSDS)
4.
การปฏิบัติงานและจัดวางอุปกรณ์เครื่องมือหรืออุปกรณ์ดับเพลิงตามที่กฎหมายกำหนด
การฝึกอบรมความรู้ความเข้าใจเรื่องไฟ, อัคคีภัย,
การป้องกันและการระงับอัคคีภัย
องค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้ประกอบด้วย
3 ส่วน คือ ความร้อน,
เชื้อเพลิง และออกซิเจน ซึ่งเพลิงไหม้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเมื่อมีปฏิกิริยาลูกโซ่ของการเผาไหม้
1. ความร้อนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เชื้อเพลิงมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงจุดวาบไฟ
2. เชื้อเพลิงมีหลายสถานะ คือ
1.1
ของแข็ง
เช่น ไม้, กระดาษ, พลาสติก, ยาง, เศษผ้า เป็นต้น
1.2
ของเหลว
เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, น้ำมันหล่อลื่น, ทินเนอร์, แอลกอฮอล์ เป็นต้น
1.3
ก๊าซ เช่น
ก๊าซเอททีลลีน, ก๊าซโพรไพรีน เป็นต้น
3. ออกซิเจนเป็นก๊าซที่ช่วยให้เชื้อเพลิงติดไฟได้ง่าย
4. ปฏิกิริยาลูกโซ่ของการเผาไหม้ถือว่าเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เพลิงไหม้อย่างต่อเนื่อง
และการลุกไหม้จะหมดไปเมื่อ
1.1
เชื้อเพลิงหมด
1.2
ออกซิเจนมีไม่เพียงพอ
1.3
อุณหภูมิของการลุกไหม้ลดต่ำลงจนไม่สามารถติดไฟได้
1.4
ปฏิกิริยาลูกโซ่ถูกตัดตอนทำให้การลุกไหม้สิ้นสุดลง
การดับเพลิงจึงเป็นกระบวนการกำจัดองค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้
โดยการลดความร้อน, กำจัดเชื้อเพลิง, ลดปริมาณออกซิเจน และตัดตอนปฏิกิริยาลูกโซ่
ประเภทของเชื้อเพลิง
การดับเพลิงให้มีประสิทธิภาพต้องพิจารณาประเภทของเชื้อเพลิง
ซึ่งมีดังนี้
1. เชื้อเพลิงประเภท A คือ เชื้อเพลิงธรรมดา เช่น กระดาษ, ไม้,
เสื้อผ้า, พลาสติก, ยาง, เชือกฟาง, หนังสัตว์ เป็นต้น
2. เชื้อเพลิงประเภท B คือ เชื้อเพลิงจากของเหลวไวไฟ, ก๊าซ หรือน้ำมันต่างๆ
เช่น ทินเนอร์, แอลกอฮอล์, น้ำมันเบนซิน เป็นต้น
3. เชื้อเพลิงประเภท C คือ เชื้อเพลิงจำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวัตถุที่มีกระแสไฟไหลผ่าน
เช่น แผงสวิทซ์, อุปกรณ์ทางไฟฟ้า เป็นต้น
4. เชื้อเพลิงประเภท D คือ เชื้อเพลิงโลหะติดไฟ เช่น
แมกนีเซียม, เซอร์โคเนียม, ไทเทเนียม, วัตถุระเบิด เป็นต้น
เครื่องดับเพลิงขั้นต้น
เครื่องดับเพลิงขั้นต้นเป็นเครื่องดับเพลิงขนาดเล็กที่สามารถหยิบยกเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างรวดเร็ว
หรือเรียกว่าเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ หรือถังดับเพลิง
โดยทั่วไปจะติดตั้งตามโรงงานหรืออาคารเพื่อสามารถหยิบใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดอัคคีภัย
เครื่องดับเพลิงนี้สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
1.
น้ำธรรมดาสะสมแรงดัน
(Water pressure)
ใช้ดับเชื้อเพลิงประเภท A
2.
โฟม (Foam) ใช้ดับเชื้อเพลิงประเภท A, B
3.
คาร์บอนไดออกไซด์เหลว
(Carbon dioxide) ใช้ดับเชื้อเพลิงประเภท
A, B, C
4.
ผงเคมีแห้ง
(Dry chemical powder) ใช้ดับเชื้อเพลิงประเภท
A, B, C, D
5.
น้ำยาเหลวระเหย
(Halon) มีลักษณะเป็นก๊าซที่เย็นจัด
และทำหน้าที่ทำลายออกซิเจน เหมาะสำหรับการดับเพลิงประเภท C เช่น
ห้องคอมพิวเตอร์, ห้องอุปกรณ์สื่อสาร
ซึ่งจะไม่เหลือคราบและทำความสะอาดง่าย แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงควรเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่เรียกว่า
AF11E
6.
กรดโซดา (Soda acid) ใช้ดับเชื้อเพลิงประเภท
A แต่ไม่เป็นที่นิยมและเลิกใช้ในบางประเทศ
นอกจากถังดับเพลิงแล้วอุปกรณ์ดับเพลิงชนิดลูกบอลดับเพลิงที่มีสารดับเพลิง
ที่เรียกว่า โมโน แอมโนเนียม ฟอสเฟต (Mono
Ammonium Phosphate) ใช้ดับเพลิงประเภท A, B, C
เครื่องดับเพลิงแบบมือถือนี้ต้องจัดวางไว้ห่างกันมีระยะไม่เกิน
20 เมตร และความสูงต้องไม่น้อยกว่า
1 เมตรจากพื้นแต่ไม่เกิน 1.4 เมตร โดยไม่มีสิ่งกีดขวางพร้อมด้วยรายละเอียดของเครื่องดับเพลิงและวิธีการใช้ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
เครื่องดับเพลิงประเภทนี้ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัมและต้องตรวจสภาพเครื่องดับเพลิงไม่น้อยกว่า
6 เดือนต่อครั้ง ซึ่งผลการตรวจสภาพต้องที่เก็บไว้กับอุปกรณ์นั้นหากเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ
แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย
แผนป้องกันและระงับอัคคีภัยประกอบด้วย
3 แผน ดังนี้
1. แผนก่อนเกิดเพลิงไหม้ ประกอบด้วย
1.1
แผนการอบรม
ควรจัดการอบรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีทั้งพนักงานใหม่และพนักงานเก่า
เพื่อย้ำความเข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหัวข้อการอบรมควรประกอบด้วย
การเกิดเพลิงไหม้, ประเภทของเพลิงไหม้, วิธีดับเพลิง, อุปกรณ์ดับเพลิง,
อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล, แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย, การซ้อมดับเพลิง,
การซ้อมอพยพหนีไฟ, การฝึกการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น
การอบรมดับเพลิงขั้นต้นกำหนดให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ
40 ของจำนวนลูกจ้างในแต่ละหน่วยงานต้องได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ราชการกำหนด
1.2
แผนการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย
เป็นแผนการส่งเสริม และกระตุ้นสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยโดยนำเสนอกิจกรรมต่างที่น่าสนใจกับพนักงานทุกระดับ
และกำหนดระยะเวลาของแต่ละกิจกรรมในแต่ละปีอย่างชัดเจน เช่น
การจัดสัปดาห์ความปลอดภัย,
การจัดทำจุลสารด้านส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันอัคคีภัย,
การจัดทำโปสเตอร์ด้านความปลอดภัย เป็นต้น
1.3
แผนการตรวจตรา
เป็นแผนการสำรวจทุกพื้นที่ทำงานเพื่อประเมินความเสี่ยง และกำจัดต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้
การตรวจตราควรกำหนดผู้ตรวจตรา, พื้นที่รับผิดชอบ, หัวข้อการตรวจสอบ,
ความถี่และระยะเวลาการตรวจสอบ, การรายงานผลการตรวจสอบ และการติดตามผลการปรับลดความเสี่ยง
หัวข้อสำหรับการตรวจตราที่สำคัญ
เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง, ทางหนีไฟ,
การจัดเก็บสารเคมีหรือวัตถุไวไฟ, จุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดไฟไหม้ เป็นต้น
2. แผนขณะเกิดเพลิงไหม้ ประกอบด้วย
2.1
แผนการดับเพลิง
ควรกำหนดขั้นตอนการดำเนินการและรายงานอย่างเป็นระบบ
เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่ร้ายแรง มีขั้นตอนดังนี้
1. เมื่อพนักงานพบเห็นเพลิงไหม้ให้แจ้งเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน
เพื่อเข้าทำการดับเพลิงทันที โดยพนักงานนั้นต้องมั่นใจว่าดับเพลิงได้ถูกวิธีตามประเภทของเพลิงไหม้
2. เมื่อพนักงานสามารถควบคุมและดับเพลิงได้แล้วให้แจ้งหัวหน้างาน
เพื่อแจ้งผลการดับเพลิงต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.)
ซึ่งจะเป็นผู้รายงานผลต่อผู้อำนวยการดับเพลิง หรือประธานคณะกรรมการความปลอดภัยที่ต้องเป็นผู้รายงานผลต่อผู้จัดการโรงงานหรือประธานบริษัท
ในขณะเดียวกันนั้นหัวหน้างานต้องแจ้งซุปเปอร์ไวเซอร์และผู้จัดการ เพื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่และรายงานความเสียหายต่อผู้จัดการโรงงาน
หรือประธานบริษัท รวมทั้งต้องพิจารณาแนวทางป้องกันการเกิดซ้ำต่อไป
3. หากพนักงานไม่สามารถควบคุมหรือดับเพลิงได้
ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) หรือผู้จัดการโดยด่วน และแจ้งผลต่อไปยังผู้อำนวยการดับเพลิงหรือประธานคณะกรรมการความปลอดภัย
เพื่อทำการดับเพลิงตามแผนการอพยพหนีไฟ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากหน่วยงานภายนอกหากไม่สามารถควบคุมเพลิงได้
ในขณะเดียวกันนั้นหัวหน้างานต้องแจ้งซุปเปอร์ไวเซอร์ และแจ้งต่อไปยังผู้จัดการ
เพื่อแจ้งผู้อำนวยการดับเพลิงหรือประธานคณะกรรมการความปลอดภัย
ซึ่งต้องประสานงานทุกหน่วยงานเพื่อสกัดเพลิงไหม้ร่วมกัน
รวมทั้งแจ้งให้ผู้จัดการโรงงานและประธานบริษัททราบถึงความก้าวหน้าในการดับเพลิงเป็นระยะ
การกำหนดผู้รับผิดชอบและหน้าที่เมื่อเกิดเพลิงไหม้ต้องมีความชัดเจน
ซึ่งทุกคนต้องทำงานประสานกันและเข้าใจในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบเป็นอย่างดี
เพื่อให้การดับเพลิง, การค้นหาผู้สูญหาย และการปฐมพยาบาลมีประสิทธิภาพ
ซึ่งอาจกำหนดโครงสร้างการระงับอัคคีภัยและหน้าที่ดังตัวอย่างรูปที่ 52 และตารางที่ 13
2.2
แผนการอพยพหนีไฟ
เป็นหนึ่งแผนที่สำคัญเมื่อเกิดเกิดอัคคีภัยเพื่อป้องกันความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
จึงต้องกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนโดยเฉพาะการกำหนดวิธีการอพยพ, ผู้ถือธงหนีไฟ,
วิธีการตรวจสอบผู้สูญหาย และจุดรวมพล ดังนั้นทุกปีจึงควรจัดซ้อมการอพยพหนีไฟที่มีขั้นตอน
ดังนี้
1. จำลองสถานการณ์ไฟไหม้
2. ผู้พบเห็นสถานการณ์ไฟไหม้จำลองกดกริ่งสัญญาณไฟไหม้ยาว
2 ครั้ง
และโทรแจ้งหน่วยงานความปลอดภัย เพื่อประกาศเสียงตามสายแจ้งให้พนักงานอพยพหนีไฟจากที่ทำงาน
3. พนักงานอพยพไปยังจุดรวมพลของแต่ละหน่วยงาน
และควรวิ่งตามผู้ถือธงของแต่ละแผนก
เพื่อตรวจสอบจำนวนพนักงานและรายชื่อผู้สูญหายแล้วแจ้งให้ผู้จัดการหน่วยงานทราบ
และแจ้งต่อผู้อำนวยการดับเพลิงหรือประธานคณะกรรมการความปลอดภัย กรณีพบว่ามีผู้สูญหายให้ส่งหน่วยค้นหาผู้สูญหายเข้าค้นหาโดยเร่งด่วน
และจัดเตรียมหน่วยพยาบาลให้พร้อม รวมทั้งรถฉุกเฉินเพื่อจัดส่งไปโรงพยาบาลหากจำเป็น
4. หน่วยดับเพลิงสวมใส่อุปกรณ์ดับเพลิง
และเข้าทำการดับเพลิงอย่างเร่งด่วน
พร้อมทั้งแจ้งสถานการณ์ไฟไหม้ต่อผู้อำนวยการดับเพลิง หรือประธานคณะกรรมการความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
เมื่อควบคุมเพลิงได้แล้วให้แจ้งต่อผู้อำนวยการดับเพลิงหรือประธานคณะกรรมการความปลอดภัยทราบทันที
พร้อมทั้งตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
หากสถานการณ์การดับเพลิงไม่สามารถควบคุมได้
ผู้อำนวยการดับเพลิงต้องตัดสินใจแจ้งหน่วยดับเพลิงภายนอก
เพื่อช่วยระงับอัคคีภัยก่อนที่จะลุกลามสร้างความเสียหายมากขึ้น
5. เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติให้รายงานผลต่อประธานบริษัท
และประกาศแจ้งให้พนักงานเข้าทำงานตามปกติ
2.3
แผนบรรเทาทุกข์
เป็นการดำเนินการหลังการอพยพหนีไฟ ประกอบด้วยการตรวจนับจำนวนคนที่จุดรวมพล,
การค้นหาผู้สูญหาย, การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยหรือทรัพย์สิน
และประสานงานกับหน่วยงานรัฐ
3. แผนหลังเหตุเพลิงไหม้สงบแล้ว ประกอบด้วย
3.1
แผนบรรเทาทุกข์
เป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อหลังจากสถานการณ์ไฟไหม้เข้าสู่ภาวะปกติประกอบด้วยการสอบสวนการเกิดอัคคีภัย,
การประเมินความเสียหาย, การช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการรักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย
และเร่งปรับสภาพสถานประกอบการหรือโรงงานให้สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ตัวอย่างแบบสอบสวนการเกิดอัคคีภัยดังรูปที่
38
3.2
แผนปฏิรูปฟื้นฟู
เป็นขั้นตอนการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานผลของทุกกิจกรรมด้านความปลอดภัยและการระงับอัคคีภัย
เพื่อออกแบบและกำหนดวิธีการหรือแผนงานให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
รวมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง
สถานประกอบการหรือโรงงานต้องเก็บแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในสภาพที่พร้อมสำหรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ
Morale ขวัญกำลังใจ ทำให้องค์กรสดใสน่าทำงาน
ขวัญหรือกำลังใจ (Morale)
เป็นสิ่งสำคัญที่องค์การต้องเติมให้เต็มเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงาน
หากพนักงานมีขวัญหรือกำลังใจในการทำงานที่ดี จะส่งผลต่อความร่วมมือในการทำงานให้มีคุณภาพที่ดี,
ต้นทุนต่ำ และจัดส่งได้ทันเวลา
การสร้างขวัญกำลังใจต้องตอบสนองความต้องการของพนักงาน โดยอาศัยการสื่อสารที่ทั่วถึงทั้งสองทางเพื่อเรียนรู้ความต้องการทั้งสองฝ่าย
องค์กรต้องการผลการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมาย สำหรับพนักงานต้องการรายได้,
สวัสดิการ หรือสภาพแวดล้อมที่ดีในการปฏิบัติงาน รวมทั้งระบบการบริหารงานที่โปร่งใสที่ทำให้เกิดความเชื่อใจกันและกัน
ซึ่งทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ความขัดแย้งภายในองค์กร, หรือข่าวลือในด้านลบได้รับผลกระทบน้อยลง
กลยุทธ์การสร้างขวัญหรือกำลังใจควรส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น
การแข่งขันด้านกีฬา, การจัดงานเลี้ยงบริษัท, การทำสาธารณประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกัน, กิจกรรมกลุ่มย่อย
เป็นต้น เมื่อมีการทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้การสื่อสารพูดคุยกันมากขึ้น ดังนั้นการขอความร่วมมือในการปรับปรุงงาน,
การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น และทำด้วยความเต็มใจ
จิตสำนึกต่อคุณภาพงานและรักองค์กรก็จะถูกสร้างขึ้นภายใต้ความรู้สึกที่แท้จริงของพนักงาน
ระบบการจูงใจ (Incentive System) ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เสริมแรงหรือการกระตุ้น (Motivation) ให้เกิดความต้องการอยากทำงานที่มีคุณภาพด้วยกำลังกายและกำลังใจอย่างเต็มที่
ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นอย่างมาก ระบบการจูงใจมี 2 ประเภท คือ
1. ระบบการจูงใจที่เป็นตัวเงิน เช่น
ระบบการจ่ายค่าจ้างของธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า จะจ่ายตามปริมาณงาน นั้นคือ
ผลิตมากได้ค่าจ้างมาก ผลิตน้อยได้ค้าจ้างน้อย
หรือการปฏิบัติงานไม่ก่อให้เกิดของเสียและไม่เคยขาดลามาสาย จะได้รับเงินโบนัสพิเศษ
2.
ระบบการจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน
เช่น การมอบประกาศนียบัตร, การกล่าวคำชมต่อที่ประชุมเมื่อพนักงานปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน
การกล่าวคำชมเชยนั้นเป็นหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญของหัวหน้างานที่ต้องทำความเข้าใจว่าการกล่าวคำชมเชยว่าต้องทำในที่ชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบและเกิดความภูมิใจจากคำชมเชย
แต่การกล่าวคำชมเชยต้องพองามไม่มากเกินไป หากจำเป็นต้องติติงหรือแนะนำลูกน้องต้องทำในที่ลับเพื่อไม่ให้ลูกน้องต้องเสียหน้า
และสามารถอธิบายชี้แจงเหตุผลได้
การจูงใจ คือ
แรงจูงใจหรือตัวผลักดันในการแสดงออกของพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแรงขับ (Driver) และความต้องการ (Need) เมื่อได้รับการตอบสนองแล้วแรงจูงใจนั้นจะมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมน้อยลง
แรงขับ (Driver) คือ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม ประกอบด้วยความแรงขับปฐมภูมิ (Primary
drives) เช่น ความหิว, ความกระหาย, ความต้องการทางเพศ, เครื่องนุ่งห่ม
เป็นต้น และแรงขับทุติยภูมิ (Secondary drives) เช่น
ความต้องการการยอมรับทางสังคม, การต้องการความรัก,
ความต้องการความสำเร็จในการทำงาน เป็นต้น
ความพึงพอใจจากระบบการจูงใจเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างขวัญหรือกำลังใจ
เมื่อพนักงานได้รับความพึงพอใจจะปลดปล่อยพลังงานแห่งการสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นเป้าหมายของการจูงใจ คือ ความพึงพอใจ ดังตัวอย่างรูปที่ 54
ความพึงพอใจของพนักงานนั้นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เพราะความพึงพอใจจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
การบริหารแรงจูงใจเพื่อสร้างขวัญหรือกำลังใจจึงต้องจัดแบ่งกลุ่มพนักงานให้ชัดเจน [การบริหารแรงจูงใจ อธิบายไว้ในบทที่ 1]
การสร้างแรงจูงใจด้วยระบบสวัสดิการ
เช่น การส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรม, บริการห้องสมุดหรือแหล่งค้นคว้าข้อมูล,
บริการรถรับส่งพนักงาน, ชุดทำงาน, อาหาร, หรือที่พัก, เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินบำเหน็จ,
เงินช่วยเหลือ (งานศพ, งานบวช), เงินกู้ยืม, สหกรณ์ออมทรัพย์, ค่าครองชีพ, ประกันชีวิตหมู่,
ค่ารักษาพยาบาลคู่สมรสและลูก, การตรวจรักษาโรคฟรี, ค่าเล่าเรียนบุตร, สิทธิการซื้อหุ้นบริษัท, รางวัลการทำงานยาวนาน,
งานเลี้ยงสังสรรค์และการแข่งขันกีฬาประจำปี หรือการจัดทัศนศึกษาดูงาน
ความตึงเครียดในการทำงาน
ความตึงเครียดในการทำงานเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อขวัญหรือกำลังใจในการทำงาน
และประสิทธิภาพการทำงาน
การบริหารความตึงเครียดจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างขวัญหรือกำลังในการทำงานที่ดี
ปัจจัยที่สร้างความตึงเครียด ประกอบด้วย
1. ปัญหาการปฏิบัติงาน
1.1
ปริมาณงานมากเกินไป
1.2
ระยะเวลามีจำกัด
1.3
การเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงาน
1.4
การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบริษัท
1.5
ระบบการสื่อสารภายในที่ไม่มีประสิทธิภาพ
1.6
ความขัดแย้งภายในองค์กร
1.7
ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน,
หัวหน้างาน หรือลูกน้อง
2. ปัญหาส่วนตัว
2.1 ปัญหาด้านครอบครัว
2.2 ปัญหาด้านการเงิน
2.3 ปัญหาด้านการพนัน
ปัจจัยความตึงเครียดข้างต้นบางอย่างสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวพนักงานเอง
แต่บางอย่างต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อช่วยบรรเทาหรือผ่อนคลายความกังวลใจให้ลดน้อยลง
หากปัจจัยความตึงเครียดไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบที่หลากหลายในการปฏิบัติงาน
เช่น
1.
ความโมโหเกรี้ยวกราดง่าย
2.
ความก้าวร้าวในการปฏิบัติงานมีเพิ่มขึ้น
3.
ความรู้สึกเบื่องาน
4.
ความรู้สึกไม่อยากร่วมมือกับองค์กร
5.
เกิดปัญหาอุบัติเหตุได้ง่าย
6.
ไม่พึงพอใจในงานมากขึ้น
7.
ลางานบ่อยครั้งและลาออกในที่สุด
ความเครียดยังส่งผลต่อร่างกาย,
จิตใจ และพฤติกรรมของพนักงานได้ เช่น
1. ความดันโลหิตสูง
2. ระบบการย่อยไม่เป็นปกติ
3. นอนไม่หลับ
4. มีความวิตกจริต
5. ตื่นตระหนกตกใจง่าย
6. ขี้หลงขี้ลืมในการทำงาน
7. พึ่งการสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา
ปัญหาความเครียดสามารถบริหารความเครียดได้ด้วยตัวพนักงานเอง โดยการปฏิบัติตน
ดังนี้
1. ออกกำลังเป็นประจำ
2. งานอดิเรก หรือการชมการแข่งขันกีฬา
3. การนั่งสมาธิ
สำหรับการช่วยแก้ไขปัญหาความตึงเครียดขององค์กร
ควรกำหนดกิจกรรมพื้นฐาน ดังนี้
1. อบรมความรู้เรื่องความเครียดและการผ่อนคลาย
2. อบรมการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพให้พนักงานแต่ละระดับขั้น
3. จัดทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน
4. ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้มีความยืดหยุ่น
5. กิจกรรมนันทนาการหรือห้องสมุดหรือห้องออกกำลังกาย
การปฏิบัติงานที่ปราศจากความตึงเครียดหรือแรงกดดันอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่ดีเท่าที่ควร
ผู้บริหารหลายคนเชื่อว่าการปฏิบัติงานด้วยแรงกดดันระดับหนึ่งที่ไม่มากเกินไป
จะทำให้ผลงานที่ได้มีคุณภาพที่ดีอย่างเห็นได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตามพนักงานต้องรู้จักการบริหารความเครียดและแรงกดดันเพื่อให้การปฏิบัติงานมีผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง
สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคมน่าอยู่ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี
สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
เป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติ (เช่น พืช, สัตว์, น้ำ, อากาศ,
ทรัพยากรธรรมชาติ) หรือมนุษย์สร้างขึ้น (เช่น โรงงาน, อาคาร, เสียง, รังสี)
อุตสาหกรรมเป็นแหล่งที่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น
การปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ, การปล่อยควันพิษออกสู่อากาศ,
การทิ้งเศษฝุ่นละอองให้ฟุ้งกระจายในอากาศ, การปล่อยความร้อนจากกระบวนการผลิต,
เสียงและการสั่นสะเทือนที่ทำลายโสตประสาท, กากของเสีย, สารอันตรายตกค้าง เป็นต้น
การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันไปตามประเภทและเทคโนโลยีที่ใช้
ระบบการบริหารสิ่งแวดล้อม (Environmental management systems: EMS ) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนที่สำคัญ
คือ
1.
การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม
(Environmental policy) ผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงาน
2.
การวางแผน
(Planning) เมื่อได้รับนโยบายสิ่งแวดล้อมแล้วต้องกำหนดแผนให้สอดคล้อง
ซึ่งควรครอบคลุมประเด็นด้านกฎหมาย, ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม, แยกแยะกิจกรรมและระบุผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม,
กำหนดวัตถุประสงค์ของแต่ละกิจกรรม และกำหนดแผนงานให้สอดคล้องกับกฎหมาย, ข้อกำหนด
หรือข้อควรปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
3.
การดำเนินการ
(Implementation) การดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้และปรับเปลี่ยนแผนงานเมื่อจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงต้องกำหนดโครงสร้างหน้าที่และผู้รับผิดชอบ, การฝึกอบรมและเอกสารส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม, การส่งเสริมประชาสัมพันธ์,
การจัดทำเอกสารควบคุมและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และการจัดทำแผนการดำเนินการเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้านสิ่งแวดล้อม
(เช่น การซ้อมแผนการรองรับเมื่อสารเคมีหกรั่วไหล)
4.
การตรวจสอบและแก้ไข
(Checking and corrective
action) กำหนดแผนการตรวจสอบเป็นระยะโดยการเปรียบเทียบผลลัพธ์กับแผนที่วางไว้
และแก้ไขเพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์
รวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหมวดหมู่เพื่อการตรวจสอบต่อไป
5.
การทบทวนการบริหาร
(Management review) เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับสภาพการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO14000) เป็นการดำเนินการที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยอนุกรมมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
คือ ข้อกำหนดของระบบจัดการสิ่งแวดล้อม, การตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม, การแสดงฉลากรองรับผลิตภัณฑ์, การประเมินความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม
และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ละช่วงของวงจรผลิตภัณฑ์
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของจิตสำนึกและต้องดำเนินการด้วยความสมัครใจ
เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชนและสังคมโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น